ประกันสังคม คือ ประกันสังคม เป็นสวัสดิการที่ทางรัฐมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้าง และ นายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท / เดือน เป็นการสร้างหลักประกันสังคมในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่มีรายได้ ซึ่งประกันสังคมหรือระบบประกันสังคมนั้นมีมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยพึ่งเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2480 อย่างไรก็ตามประเทศไทยเริ่มมีสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 ในการคุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วย ทั้งที่เกิดขึ้นจากการทำงาน และ นอกเหนือจากการทำงาน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ประกันสังคม หลัก ๆ จะประกอบไปด้วย ผู้ประกันตน , นายจ้าง , รัฐบาล ส่วนผู้ประกันตนจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน มีมาตรา 33 , 39 , 40 รายละเอียดดังต่อไปนี้
ประกันสังคม มาตรา 33 คืออะไร ?
ประกันสังคม มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และ ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และ ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป สำหรับอัตราเงินสมทบของประกันสังคม มาตรา 33 ที่ผู้ประกันตนต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน จะคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และ สูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างลูกจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท / เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท / เดือน
- ลูกจ้าง / ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้าง ขั้นต่ำ 83 บาท / เดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท / เดือน
- สิทธิประโยชน์ ประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับ สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 กรณี ดังนี้
- กรณีเจ็บป่วย
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีเสียชีวิต
- กรณีชราภาพ
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีว่างงาน
ประกันสังคม มาตรา 39 คืออะไร ?
ประกันสังคม มาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยทำงานและเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาก่อน แล้วออกจากงานแต่ต้องการรักษาสิทธิ์ประกันสังคม เงินสมทบที่ผู้ประกันตน มาตรา 39 ต้องนำส่งจะเท่ากับ 432 บาท / เดือน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือ ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ในทันที คุณสมบัติของผู้สมัคร มาตรา 39 เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน รวมถึงต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม สิทธิประโยชน์ ประกันสังคม มาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ซึ่งได้แก่ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และ ชราภาพ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับ ผู้ประกันตน มาตรา 33
ประกันสังคม มาตรา 40 คืออะไร ?
ประกันสังคม มาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือ แรงงานนอกระบบ ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ ผู้ประกันตนมาตรา 39 การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 40 มีด้วยกัน 3 ทางเลือก ได้แก่
- จ่ายเงินสมทบ 70 บาท / เดือน
- จ่ายเงินสมทบ 100 บาท / เดือน
- จ่ายเงินสมทบ 300 บาท / เดือน
คุณสมบัติของผู้สมัคร มาตรา 40
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือ เป็นผู้ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 หรือ 6 หรือ 7
- อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และ ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
- ผู้พิการทางร่างกายที่รับรู้สิทธิ
- ไม่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 หรือ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
สิทธิประโยชน์ ประกันสังคม มาตรา 40 จ่าย
- เงินสมทบ 70 บาท / เดือน
- ประสบอุบัติเหตุ หรือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ
- รับเงินทดแทนการขาดรายได้
- เสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท
- จ่ายเงินสมทบ 100 บาท / เดือน
- ประสบอุบัติเหตุ หรือ เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้
- เสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท
- ชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 50 บาท / เดือน
- จ่ายเงินสมทบ 300 บาท / เดือน
- ประสบอุบัติเหตุ หรือ เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต
- ชราภาพ
- สงเคราะห์บุตร
ประกันสังคม นั้นคือการที่นายจ้าง ลูกจ้าง และ รัฐบาลร่วมกันจ่ายเงินสะสม เพื่อจัดตั้งกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น “ หลักประกันของสังคมคนทำงาน ” จะว่าไปประกันสังคมก็คล้าย ๆ กับสวัสดิการของข้าราชการ เช่น เบิกค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เกษียณไปก็ได้เงินบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น พูดง่าย ๆ ก็คือประกันสังคมที่เราจ่ายไปนั้น ก็เป็นการจ่ายสะสมไว้เป็นสวัสดิการของตัวเราเอง โดยมีนายจ้าง และ รัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบเข้ามาให้ด้วย สรุปแล้ว ประกันสังคม ที่เราจ่าย ๆ ไปในแต่ละเดือนนั้น เราจะได้รับกลับมาในรูปแบบของสวัสดิการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากไม่ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกันตนก็จะไม่สามารถขอรับเงินใด ๆ จากประกันสังคมได้ค่ะ ทั้งหมดนี้ก็เป็นสาระดี ๆ เกี่ยวกับประกันสังคม ที่ทุกท่านควรทราบค่ะ